พระพุทธเจ้าทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัททั้ง ๔

แต่ต้องมองให้ตลอดด้วยว่า ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัทที่เป็นอย่างไร​ ?

ในแง่ของการสังคายนา ชาวพุทธก็รู้กันอยู่แล้วว่า การสังคายนาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการประมวลหรือรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

การสังคายนานั้น​ เริ่มมีมาตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ดังที่พระองค์เคยปรารภกับ “พระจุนทะ” ว่า ควรจะสังคายนาธรรมทั้งหลายที่พระองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้ เพื่อให้ “พรหมจริยะ” คือ “พระศาสนา” ดำรงอยู่ได้ยั่งยืน

… พระพุทธศาสนานั้นมีชื่อเรียกได้หลายอย่าง คำเรียกอย่างหนึ่งคือที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “พรหมจริยะ” หรือ “พรหมจรรย์” พรหมจรรย์ หรือ พรหมจริยะ นั้น คือ “พระพุทธศาสนา”

… พระพุทธเจ้าตรัสว่า ควรสังคายนาหลักธรรมคำสอนของพระองค์ เพื่อให้พรหมจริยะดำรงอยู่ยั่งยืนนาน เพื่อประโยชน์และความสุขแก่พหูชน

ก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน “พระสารีบุตร”ได้ทำสังคายนาเป็นตัวอย่างไว้ ดังปรากฏใน “สังคีติสูตร” ซึ่งอยู่ใน พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑

… การสังคายนาพระธรรมวินัยเริ่มเอาจริงเอาจังเป็นงานเป็นการใหญ่ของสงฆ์ส่วนรวมขึ้น หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน เมื่อ “พระมหากัสสปเถระ” เป็นประธานทำสังคายนาครั้งที่ ๑

… “การสังคายนา” ก็คือ.. การประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันได้แก่พระธรรมวินัย มาจัดวางไว้เป็นแบบแผน ให้ทรงจำไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นหลักของพระพุทธศาสนาสืบมา

พระธรรมวินัยที่ได้สังคายนารวบรวมไว้นี้ ต่อมาก็เป็น “พระไตรปิฎก” พระไตรปิฎกจึงเป็นผลของการสังคายนา โดยเป็นที่รวบรวมพระธรรมวินัยที่ได้สังคายนาไว้นั้น

… ในเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า ให้สังคายนาพระธรรมวินัย #เพื่อให้พรหมจริยะคือพระศาสนายั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก “พระไตรปิฎก”​ ก็คือผลงานที่เป็นประจักษ์พยานของการสังคายนานี้

เพราะฉะนั้น พระไตรปิฎกจึงมีความสำคัญโดยเป็นที่รักษาพระพุทธศาสนาอยู่ในตัวของมันเอง รักษาพระไตรปิฎก ทำให้พุทธบริษัทมีคุณสมบัติที่จะรักษาพระพุทธศาสนา

… ก่อนจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า… พระองค์จะปรินิพพานต่อเมื่อ พุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลายทั้งปวง คือพระภิกษุ ทั้งเถระ ทั้งมัชฌิมะ ทั้งนวกะ ภิกษุณีก็เช่นเดียวกัน พร้อมทั้งอุบาสก อุบาสิกา ทั้งที่ถือพรหมจรรย์ และที่เป็นผู้ครองเรือนทั้งหมด #ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะรักษาพระศาสนาได้ คือ…

๑. ต้องเป็นผู้
ก) มีความรู้ เข้าใจหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ดี และ
ข) ประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง ตรง เป็นธรรมานุธรรมปฏิบัติ

๒. นอกจากรู้เข้าใจเอง และปฏิบัติได้ดีแล้ว ยังสามารถบอกกล่าวแนะนำสั่งสอนผู้อื่นได้ด้วย

๓. เมื่อมีปรัปวาทเกิดขึ้น คือ คำจ้วงจาบสอนคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนจากพระธรรมวินัย ก็สามารถชี้แจงแก้ไขได้ด้วย

… ถ้าพุทธบริษัททั้ง ๔ มีความสามารถอย่างนี้ พระองค์จึงจะปรินิพพาน ตอนที่พระองค์จะปรินิพพานนั้น มารก็มากราบทูลว่า เวลานี้พุทธบริษัท ๔ มีคุณสมบัติพร้อมอย่างที่พระองค์ได้ตรัสเหมือนกับเป็นเงื่อนไขไว้แล้ว

พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าเป็นอย่างนั้น จึงทรงรับที่จะปรินิพพาน โดยทรงปลงพระชนมายุสังขาร

… พุทธดำรัสนี้ ก็เหมือนกับว่า.. พระพุทธเจ้าทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับ “พุทธบริษัททั้ง ๔” แต่ต้องมองให้ตลอดด้วยว่า ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัทที่เป็นอย่างไร

ซึ่งก็ตอบได้เลยว่า ทรงฝากไว้กับพุทธบริษัทที่มีคุณสมบัติอย่างที่กล่าวมาแล้ว เริ่มด้วยรู้เข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย หรือถูกต้องตามธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

พระธรรมวินัยนี้อยู่ที่ไหน ก็อยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก พระธรรมวินัยก็อยู่มาจนถึงปัจจุบันไม่ได้

… เพราะฉะนั้น ! ชาวพุทธจะเป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าฝากพระศาสนาไว้ ก็โดยมีพระไตรปิฎก และเรียนรู้เข้าใจพระธรรมวินัยจากพระไตรปิฎกนี้แหละ..

… เป็นอันว่า ในแง่นี้พระไตรปิฎกก็เป็นหลักของพุทธบริษัท ต้องอยู่คู่กับพุทธบริษัท โดยเป็นฐานให้แก่พุทธบริษัท ซึ่งจะทำให้ชาวพุทธเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้

นี้ก็เป็นอีกแง่หนึ่งที่พระไตรปิฎกมีความสำคัญต่อการธำรงพระศาสนา

รักษาพระไตรปิฎกไว้เป็นฐานของ…ปริยัติ ปฏิบัติ และ ปฏิเวธ

… อีกแง่หนึ่ง ! ขอให้มองว่าพระพุทธศาสนานี้ คืออะไรบ้าง เราพูดกันว่า พระพุทธศาสนานี้ ตัวแท้ตัวจริง ถ้าสรุปง่ายๆ ก็เป็น ๓ ดังที่เรียกว่าเป็น “สัทธรรม ๓” คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และ ปฏิเวธ พระศาสนาทั้งหมดก็มีเท่านี้ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ

… “ปริยัติ” ก็คือ พุทธพจน์ที่เรานำมาเล่าเรียนศึกษา พุทธพจน์ที่เราจะเล่าเรียนนั้นอยู่ที่ไหน ก็อยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก พุทธพจน์ก็ไม่สามารถมาถึงเราได้

การที่ท่านสังคายนาก็คือ นำพุทธพจน์มารวมไว้ให้อยู่ในพระไตรปิฎกนี่เอง พุทธพจน์ที่รวบรวมไว้เหล่านี้นี่แหละ เป็นปริยัติที่เราเล่าเรียน

“ปริยัติ” เป็นผลจาก “ปฏิเวธ” และเป็นฐานของการ “ปฏิบัติ”

… ที่ว่า “ปริยัติ”​ เป็นผลมาจาก “ปฏิเวธ”​ นั้น หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงปฏิเวธ คือทรงบรรลุผลการปฏิบัติของพระองค์แล้ว จึงทรงนำประสบการณ์ที่เป็นผลจากการปฏิบัติของพระองค์นั้น มาเรียบเรียงร้อยกรองสั่งสอนพวกเรา คือทรงสั่งสอนพระธรรมวินัยไว้

คำสั่งสอนของพระองค์นั้น ก็มาเป็นปริยัติของเรา คือเป็นสิ่งที่เราจะต้องเล่าเรียน ปริยัติที่เป็นผลจากปฏิเวธนั้น หมายถึงปฏิเวธของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ คือผลการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า และที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับเท่านั้น ไม่เอาผลการปฏิบัติของโยคี ฤาษี ดาบส นักพรต ชีไพร อาจารย์ เจ้าลัทธิ หรือศาสดาอื่นใด

… ที่ว่าปริยัติเป็นฐานของการปฏิบัติ ก็คือ ถ้าไม่ได้เล่าเรียนปริยัติ ไม่รู้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า การปฏิบัติก็เขว ก็ผิด ก็เฉไฉ ออกนอกพระพุทธศาสนา

ถ้าปฏิบัติผิด ก็ได้ผลที่ผิด หลอกตัวเองด้วยสิ่งที่พบซึ่งตนหลงเข้าใจผิด ปฏิเวธก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีปริยัติเป็นฐาน ปฏิบัติและปฏิเวธก็พลาดหมด เป็นอันว่าเหลวไปด้วยกัน

พูดง่ายๆ ว่า.. จากปฏิเวธของพระพุทธเจ้า ก็มาเป็น ปริยัติของเรา แล้วเราก็ปฏิบัติตามปริยัตินั้น เมื่อปฏิบัติถูกต้อง ก็บรรลุปฏิเวธอย่างพระพุทธเจ้า ถ้าวงจรนี้ยังดำเนินไป พระศาสนาของพระพุทธเจ้าก็ยังคงอยู่

…. “ปริยัติ”​ ที่มาจากปฏิเวธของพระพุทธเจ้า และเป็นฐานแห่งการปฏิบัติของพวกเราเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย ก็อยู่ในพระไตรปิฎกนี้แหละ

…. ฉะนั้น ! มองในแง่นี้ก็ได้ความหมายว่า ถ้าเราจะรักษาปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธไว้ ก็ต้องรักษาพระไตรปิฎกนั่นเอง

ตกลงว่า ในความหมายที่จัดแบ่งตัวพระศาสนาเป็น “สัทธรรม ๓” หรือบางทีแยกเป็น “ศาสนา ๒” คือ ปริยัติศาสนา กับ ปฏิบัติศาสนา นั้น รวมความก็อยู่ที่พระไตรปิฎกเป็นฐาน จึงต้องรักษาพระไตรปิฎกไว้ เมื่อรักษาพระไตรปิฎกได้ ก็รักษาพระพุทธศาสนาได้”
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : ธรรมนิพนธ์ “รู้จักพระไตรปิฎก เพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้” หน้า ๗ – ๑๑ ไฟล์ PDF โหลดได้ที่นี่.. https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/371


Join The Discussion

Compare listings

Compare